ในหลายปีที่ผ่านมา การสร้างโรงสีข้าวก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ละจังหวัดก็มีกำลังผลิตมากขึ้นไม่น้อยกว่าในอดีต
กำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แต่ปริมาณข้าวเปลือกที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้เพิ่มเป็นทวีคูณเหมือนกับกำลังผลิตของโรงสีข้าว
แน่นอนในการทำธุรกิจเสรีที่มีการแข่งขัน ทุกโรงสีก็ต้องพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์การสีข้าว เครื่องสีข้าว การบรรจุ การส่งการจำหน่าย ต้องพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อชิงความได้เปรียบในด้านการค้า
มีหลายท่านบอกว่าเครื่องจักร เทคนิคการสีข้าว อุปกรณ์ที่มีความสำคัญ ราคาสูง ทุกโรงสีมีความสามารถในการซื้อและติดตั้งได้ไม่แพ้กัน แต่การสีข้าวนั้นไม่ได้มีเครื่องอุปกรณ์เท่านั้นก็สีข้าวได้
สิ่งสำคัญที่สุด คือคน
ถ้าไม่มีคนที่เอาใจใส่ ดูแลเครื่อง และปรับเครื่องให้อยู่ในสภาวะการทำงานที่ดี แม้ว่าเครื่องจะดีขนาดไหนก็ไม่มีความหมาย
วันนี้ผมจะพูดเรื่อง หัวใจของโรงสีข้าว ที่ต้องมี 4 ประสานจึงจะเรียกว่าสมบูรณ์
1. พนักงานที่มีความสามารถ
2. เครื่องจักรที่มีคุณภาพ
3. การติดตั้งที่ดี ระบบทำงานที่ไม่ซับซ้อน
4. วัตถุดิบ ที่มีคุณภาพดี
ข้อที่ 1 พนักงานที่มีความสามารถ
ปัจจุบันเรามักจะได้ยินบ่อยๆคือ “คนงานหายาก” ไม่มีคนเป็น หาคนที่ทำงานดีๆไม่ได้ ไม่มีคนพอกหินเป็น ไม่มีคนใช้หินโคนได้ เหล่านี้คือวลีที่ได้ยินทั่วไป
แต่ความเป็นจริง ก็คือ เราไม่ได้มีการสร้างบุคลากรที่มีความรู้เรื่องการสีข้าวมาเลย เรามีมหาวิทยาลัยสอนสาขาวิชาชีพมากมาย แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่มีการสอนเรื่องการสีข้าว หรือที่เราเรียกทางวิชาการว่า “เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว”
ที่เห็นได้และมีผลงานเป็นรูปธรรมคือ สถาบันราชมงคลวิทยาเขตบางพระ ชลบุรี ซึ่งผมเองได้เข้ารับการอบรมในวิชา “เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว” กับท่านอาจารย์ ผ.ศ. ผดุงศักดิ์ วานิชชัง เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา
ซึ่งท่านได้ให้ความรู้เรื่องการจัดการข้าวเปลือกตั้งแต่อยู่ในท้องนา ผ่านการอบลดความชื้น การทำความสะอาด การเก็บรักษา การสีข้าว การบรรจุ การส่งมอบลูกค้า
เริ่มจากข้าวเปลือกที่ยังอยู่ที่ต้นข้าวในท้องนาควรที่จะเกี่ยวเมื่อไร?
อายุของข้าวเปลือกที่ยังติดอยู่ต้นข้าว
เทคนิคการใช้เครื่องเกี่ยวที่ดี เสียหายน้อย
การอบลดความชื้น ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ
- อบเพื่อจะนำไปเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าว
- และที่โรงสีดำเนินการอยู่คืออบเพื่อจะนำไปสีเป็นข้าวสาร
เราจะพูดถึงการอบเพื่อจะนำไปสีเป็นข้าวสารคุณภาพดี จมูกข้าวสวย ผิวพรรณของข้าวสารขาวสวย จมูกดี อวบอิ่มเต็มเมล็ด
ต้องใช้เครื่องอบลดความชื้นที่ดี การให้ความร้อนต้องสม่ำเสมอ ไม่สูงเกินไป ใช้เวลาในการอบที่เหมาะสมกับข้าวเปลือกที่กำลังอบอยู่ในเวลานั้น
การอบแบบเร็วเพื่อให้ข้าวเปลือกแห้งเร็ว อบได้มากทันอกทันใจ แต่เมื่อข้าวเปลือกแห้งแล้วนำมาเก็บสต็อกไว้ในยุ้ง ไม่นานความชื้นก็จะกลับมา ข้าวท่านก็จะเหลืองเร็ว เหลืองง่าย ทั้งๆที่ท่านคิดว่าไม่น่าจะเหลือง
อะไรที่เร็วๆทันใจวัยรุ่นไม่เหมาะสมกับการอบข้าวเปลือก
โดยเฉพาะข้าวเปลือกนาปี ที่ต้องใช้เวลาเก็บสต็อกนานเพื่อให้เป็นข้าวเก่าใช้บริโภคภายในประเทศ
ถ้าท่านศึกษาธรรมชาติของข้าวเปลือกนั้น ความชื้นหรือน้ำจะอยู่กับเนื้อข้าวภายใน การอบความให้ความร้อนจากด้านนอกในเวลาสั้นๆ เปลือกข้าวจะแห้ง (ร้อนมากและดูเหมือนแห้ง) แต่ข้าวสารที่อยู่ภายในกำลังดูดซับความร้อนและคายความชื้นออกมาทีละน้อยอย่างช้าๆ
ถ้าความร้อนมากเกินไปข้าวสารจะแตกร้าวเพราะทนความร้อนและความดันไม่ได้ ข้าวก็จะป่น การที่เราเว้นช่วงเวลาประมาณ ๘-๑๐ ชั่วโมง ก็เพื่อให้ข้าวเปลือกได้คืนตัวให้ความร้อนแทรกเข้าไปในเมล็ดข้าวและคายน้ำออกมาจากเมล็ดข้าว ข้าวเปลือกจึงจะแห้งอย่างแท้จริง (เราจึงมีตู้เป่าเย็น)
เครื่องอบมีหลายยี่ห้อ หลายโรงงาน ซึ่งแต่ละแห่งเขาก็โฆษณาว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ท่านต้องเลือกเองใช้วิจารณญาณในการเลือก เพราะว่าราคาชุดหนึ่งๆแพงกว่ารถ เบนซ์ 300 S Class
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ยังไม่ได้เข้าเรื่องคน เครื่องอบจะดีอย่างไร อัตโนมัติขนาดไหนก็ไม่สามารถทำงานได้ (ได้ดี) หากว่าไม่มีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ (ต้องรู้เครื่อง รู้ข้าว รู้คน)
หลังจากรู้เรื่องการอบลดความชื้นแล้ว ก็มาถึงการเก็บรักษา
มีหลายท่านซึ่งเข้าร่วมสัมมนาด้วยกัน ตั้งคำถามว่า ระหว่างไซโลกลมๆ เป็นเหล็กสวยงาม สะดวก มีอุปกรณ์ตัวช่วยเยอะแยะ จะเก็บข้าวเปลือกได้ดี หรือว่าเป็นยุ้งปูนซีเมนต์ ทำทางลมใต้พื้นยุ้ง เพื่อเป่าลมเข้าไประบายความร้อน อันนี้เป็นเทคนิคที่ดีมาก และปัจจุบันได้นำไปใช้กันทุกโรงสีแล้ว ได้ผลน่าพอใจมาก
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของโรงสีข้าว ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรในร้านสี (คนปล่อยข้าว)
ทุกโรงสีบอกว่ามีความสามารถสร้างโรงสีให้ทันสมัยอย่างไรก็ได้ แต่หาคนปล่อยข้าวยากมาก
การที่ขาดบุคลากรในโรงสีอย่างนี้ ผลมาจากรัฐบาลไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญในอุตสาหกรรมการสีข้าวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยเรา ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติให้ทุกคนศึกษากันเองแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
โรงสีไหนที่ฝึกฝน ให้ความรู้กับพนักงานได้ดี ก็ได้พนักงานที่ดี ที่ไม่มีพื้นฐานก็ต้องใช้วิชา ครูพักลักจำ กว่าที่จะมีความรู้ก็ต้องแลกด้วยความเสียหายของข้าวเปลือก ข้าวสาร ซึ่งเป็นเงินของประเทศชาติไปเป็นจำนวนมาก
รัฐควรที่จะต้องให้ความสนใจเรื่องเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวให้มาก
ปีหนึ่งๆ เราเพาะปลูกข้าวได้ ทั้ง นาปรัง และนาปี รวมหลายสิบล้านตันข้าวเปลือก ถ้าข้าวเปลือกทั้งข้าวหอมมะลิ หอมปทุม สุพรรณ ชัยนาท และข้าวเหนียว ราคาเฉลี่ย 7,000 บาทต่อเกวียน เป็นเงินประมาณ 161,000 ล้านบาท
นี่คิดเฉพาะข้าวเปลือก ยังไม่ได้คิดเป็นราคาข้าวสารและธุรกิจที่ต่อเนื่องจากข้าวเปลือกอีกมากมาย
ส่วนหนึ่งก็ส่งออกไปขายต่างประเทศ ไทยเราติดอันดับส่งออกข้าวสารเลี้ยงพลเมืองกว่าครึ่งโลกทำเงินรายได้เข้าประเทศแบบเต็มๆ ถ้าเกษตรกรชาวนา ทำได้ดีขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ โรงสีข้าวลดการเสียหายจากการสีข้าว อีก 10 เปอร์เซ็นต์ คิดดูว่าเป็นเงินมากมายมหาศาลเพียงใด แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่มีใครที่นำมาคิดเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาบุคคล
สโลแกน ที่ใช้กันทั่วโลก คือ “พัฒนาคน แล้วคนก็จะพัฒนาชาติ”
อีกเรื่องหนึ่งที่น่านำมาคิด คือปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง (ไม่ใช่ทุกแห่ง) ได้ใช้แรงงานต่างด้าว ถ้ามองระยะสั้นอาจจะดี เพราะไม่มีแรงานของไทยเราทำงานบางประเภท แต่ถ้ามองยาวแล้วการพัฒนาของชาติจะแย่ลง เพราะไม่มีการพัฒนาความรู้ในวิชาชีพนั้นๆ
แต่วันนี้การเริ่มต้นใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว โรงเรียนวิทยาลัยการอาชีพจังหวัดนครสวรรค์ และอุทัยธานี พิจิตร และ จังหวัดลพบุรีอีกหลายโรงเรียนระดับ ป.ว.ช และ ป.ว.ส. ได้เปิดหลักสูตรเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยว เริ่มเปิดรับนักเรียน ตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ผ่านมา
ทำให้มีความหวังที่ปลายอุโมงค์ ว่าอนาคตไม่นาน เราจะมีนักศึกษาที่จบมาเพื่อป้อนตลาดแรงงานภาคการสีข้าว เพราะที่ผ่านมาก็ได้แค่ฝากความหวังไว้ที่อาจารย์ ผ.ศ. ผดุงศักดิ์ วานิชชัง เพียงคนเดียวมาตลอด
ข้อที่ 2 เครื่องจักรที่มีคุณภาพ
ระบบการสีข้าวนั้นมีขั้นตอนมากมาย แต่ละขั้นตอนนี้ยังแยกย่อยไปอีก
การติดตั้งเครื่องจักรนั้นเราต้องกำหนดความต้องการไว้ว่าเราต้องสีข้าวแบบไหน บรรจุอย่างไร เพราะเครื่องจักรมีให้เลือกมากมายพอๆกับออปชั่นในรถยนต์ซึ่งมีให้เลือกอย่างจุใจ อาทิเช่น
- ตะแกรงทำความสะอาดข้าวเปลือก
-
ตะแกรงคัดดอกหญ้า
-
เครื่องกะเทาะข้าวเปลือก
-
ตะแกลงคัดข้าวแกลบ รำหยาบ จมูกข้าว
-
ตู้สีฝัดระบบลมหมุนเวียน / ตู้สีฝัดระบบเปิด
-
ตะแกรงเก็บฟางจากข้าวกล้อง
-
ตะแกรงโยกข้าวกล้อง
-
ตะแกรงคัดแยกกรวด
-
เครื่องขัดข้าวครั้งที่ 1
-
เครื่องขัดข้าวขาวครั้งที่ 2
-
เครื่องขัดข้าวขาวครั้งที่ 3
-
ตะแกรงแยกข้าวปลายก่อนลงขัดมัน
-
เครื่องขัดมันครั้งที่ 1
-
เครื่องขัดมันครั้งที่ 2
-
ตะแกรงคัดเปอร์เซ็นต์ข้าวสาร / ข้าวต้น / ข้าวรวม / ข้าวท่อน / ข้าวปลาย
-
ตะแกรงกลมเบอร์ต่างๆตามขนาดมีให้เลือก
-
เครื่องชั่งไหลผ่าน เพื่อชั่งน้ำหนักข้าวชนิดต่างๆเพื่อนำไปคิดเปอร์เซ็นต์การสีข้าว
-
ถังพักข้าวชนิดต่างๆ
-
ถังพักเพื่อการบรรจุ
-
เครื่องชั่งบรรจุ
-
ต้นกะพ้อประจำที่ต่างๆ
-
พัดลม บอลลูน ท่อส่ง ท่อดูด
-
สายพานลำเลียง สกรูลำเลียง
-
มอร์เตอร์ประจำเครื่อง
-
สายไฟฟ้าแส่งสว่าง สายไฟฟ้าระบบควบคุม ตู้ควบคุม คอมพิวเตอร์ควบคุมระบบ
-
เครื่องยิงสี
-
ปั๊มลม
ที่เขียนมาข้างต้นคืออุปกรณ์มาตรฐานในร้านสี
ซึ่งยังมีการแยกย่อยออกไปอีกว่าจะติดตั้งแบบไหน รุ่นไหน จำนวนกี่ตัว ยี่ห้ออะไร เป็นต้น
การเลือกซื้อนั้นต้องตั้งโจทย์ไว้ว่าท่านต้องการสีข้าวชนิดไหน เครื่องจักรแบบไหนที่เหมาะสมกับข้าวชนิดนั้นๆ หากท่านติดตั้งเครื่องจักรที่แพงเกิน มากเกินไป ก็ไม่เหมาะสมกับการลงทุน แต่ถ้าลงไม่ครบก็ไม่สามารถที่จะทำงานได้
ข้อ 3 การติดตั้งที่ดี ระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อน
เมื่อมีเครื่องจักรที่ดี เหมาะสมแล้ว การออกแบบก็จะเป็นตัวชี้วัดว่าท่านทำได้มากเพียงใด
เพราะว่าการสร้างร้านสีนั้นใช้เงินมาก ร้านสีที่สูงมากยิ่งใช้เงินมากเป็นเงาตามตัว
การติดตั้งที่ซับซ้อน หรือแคบเกินไป เวลาที่ต้องซ่อมแซมก็ทำได้ลำบาก การเดินเครื่องปรับแต่งเครื่องก็ไม่สะดวก
มีหลายท่านคิดว่าถ้าเราติดตั้งเครื่องกะเทาะอยู่ด้านบน และกะเทาะมาลงตะแกรงเหลี่ยมแล้วลงมาตู้สีฝัด เสร็จแล้วก็ลงมาตะแกรงโยก โอ้โฮ!! วิเศษอะไรจะขนาดนั้น ไม่รู้คนอื่นทำไมคิดไม่ออก
ขอบอกได้เลยนะว่ามีคนคิดมาแล้วและก็รื้อออกมาแล้ว
เพราะว่าไม่มีพนักงานคนไหนยกลูกยางกลมขึ้นไปถึงชั้นที่ 3 แล้วนั่งเปลี่ยนลูกยางในขณะที่ร้านสีกำลังโยกคลอน และมีฝุ่นข้าวแกลบที่ฟุ้งมาจากตะแกรงข้าวแกลบด้านล่าง ลงไปรบกวนเวลานั่งเปลี่ยนลูกยาง
เวลาซ่อมเครื่องกะเทาะยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตอนดึกๆ ลูกยางหมดก็ไม่มีคนไปเปลี่ยน ข้าวขาดก็ไม่มีคนมาดู เพราะขึ้นร้านสีขนาด 3 ชั้น
นี้เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ จึงเขียนมาเพื่อให้นึกถึงการออกแบบเป็นสำคัญ
ออกแบบดี ประหยัดทุกอย่าง
ตัวอย่างเรื่อง สายไฟฟ้าในร้านสี บางท่านชอบสวยงาม ติดตั้งห้องควบคุมไฟฟ้าแยกออกมาจากร้านสี มาอยู่อีกฝั่งหนึ่งของอาคาร สวยมาก ดีมาก แต่ไม่ประหยัด มอเตอร์ในร้านสีมีมากกว่า 100 ตัว แต่ละตัวมีสายไฟ 6 เส้น สายควบคุมอีก 4 เส้นสายรีโมทอีก 4 เส้น รวม 14 เส้น ถ้าห่างเพิ่มขึ้นอีก 50 เมตร มอเตอร์ 100 ตัว ต้องเพิ่มสายไฟทั้งเล็กและใหญ่รวม 50 x 100 x 14 รวม 70,000 เมตร
พื้นที่ร้านออกกว้างขวาง ออกแบบให้ใช้พื้นที่น้อยที่สุด เครื่องกะเทาะข้าวเปลือก จัดวางในพื้นที่จำกัด หันหน้าตามกัน หันหน้าเข้าหากัน วางซ้ายขวาอย่างสวยงาม
แต่ลืมเว้นพื้นที่ด้านหน้าไว้เพื่อเปลี่ยนลูกยาง ไม่เว้นพื้นที่ด้านหลังไว้ซ่อมบำรุง ไม่เว้นพื้นที่ด้านบน ไว้เวลายืนเดินจะได้ไม่ต้องคอยหลบท่อข้าวที่พาดข้ามทางเดิน
ที่เขียนมานี้ไม่ใช่ว่าทุกโรงเป็นอย่างนี้แต่นำปัญหาหลายๆ โรงงานมาเขียนทีเดียวจึงดูว่ามาก
จริงๆแล้วการออกแบบสำคัญมากที่สุด เพราะว่าเราจะรู้ว่าต้องมีงบประมาณเท่าไร ต้องเริ่มต้นจากจุดไหน และเมื่อไรจึงจะเสร็จ สีข้าวได้ ตามที่ต้องการ
ข้อ 4 วัตถุดิบที่มีคุณภาพดี
เราไม่มีเวลามากสำหรับการลองผิดลองถูก ผู้ใหญ่หลายท่านมักบอกเสมอว่า “เราต้องเรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวจากคนอื่น”
เนื่องจากว่าธุรกิจการสีข้าวนั้น การซื้อข้าว การขายข้าว มีราคาขึ้นลงเหมือนกับการซื้อหุ้น
ถ้าท่านซื้อข้าวเปลือกในราคาแพง (หั่งเช้งในขณะนั้น) ท่านอาจจะต้องรอนาน (ภาษาหุ้นเรียกว่าติดดอย)
แต่ข้าวเปลือกกับหุ้นต่างกัน หุ้นมีดอกเบี้ยเป็นต้นทุน
แต่ข้าวเปลือกมีทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านดอกเบี้ย และคุณภาพที่หายไป (น้ำหนักข้าวเปลือกจะลดลงจากปฏิกิริยาการหายใจของเมล็ดข้าวสาร, กลิ่นหอมสดใหม่หายไป, ความนุ่มลดลง)
ตลาดหุ้นปิดตลาดวันละ 2 ครั้งมีเวลาที่แน่นอน แต่ข้าวสารและข้าวเปลือกไม่มีเวลาปิดตลาด ไม่มีเสาร์อาทิตย์
มีอยู่ช่วงหนึ่งราคาตลาดผันผวนมากโดยเฉพาะข้าวนึ่ง มีลูกค้าหลายท่านที่รับ order ล่วงหน้าแล้วราคาขึ้นมาก ทำให้ขาดทุน
ในบางครั้งราคาข้าวสารไม่ขึ้นแต่ข้าวเปลือกขึ้นนำหน้าไปก่อน ไม่ซื้อก็ไม่มีข้าวเปลือก จึงต้องซื้อข้าวเปลือกในราคาทองเพื่อเก็บไว้รอเวลาที่หั่งเช้งขึ้นมาถึงพอให้มีกำไร อย่างนี้เป็นต้น
ต้นทุนในการเก็บสต็อกข้าวเปลือกและการสีการส่งมอบทุกขั้นตอนการบริหารสมัยใหม่เรียกว่าระบบ Logistics
ในกิจการโรงสีข้าวเราอาจจะมองเห็นโรงสีขนาดใหญ่ที่อยู่ริมถนนสายหลัก เช้าสามีรถบรรทุกและรถพ่วงขนาดใหญ่มาจอดรอนำเข้าเปลือกมาตีราคาและถ่ายพร้อมส่งมอบให้โรงสีทุกวัน มีเวลาทำการก็มีรถวิ่งเข้าออกทั้งวัน
ลองคิดดูว่าข้าวเปลือก 1 เมล็ดเมื่อนำไปสีเป็นข้าวสารแล้วจะมีผลผลิตรวมได้ 10 รายการดังนี้
- ข้าวสาร 100% ( ดีเลิศ)
-
ข้าวสามส่วน
-
ข้าวท่อน
-
ข้าวปลาย
-
ข้าวปลายเล็ก
-
ช้าวไก่ (ข้าวสารแตกซีกและข้าวเปลือกที่ไม่สมบูรณ์)
-
รำหยาบ
-
รำละเอียด
-
แกลบ
-
ฟาง ดอกหญ้า เศษไม้ (สิ่งเจือปน)
ทุกรายการมีตัวเลขสูตรเฉพาะของตัวมันเองว่าข้าวเปลือก 1000 กิโลกรัม หรือ 1 เกวียน จะแปรออกมาได้สัดส่วนอย่างไรบ้าง กำไร ขาดทุนก็อยู่ตรงนี้นี่เอง ถ้าเราสามารถทำให้ดี 4 ประการเกิดขึ้นในโรงสีข้าวได้
หัวใจ 4 ห้องของโรงสีข้าวนี้ ไม่ว่าสีข้าวอย่างไรก็ไม่มีวันขาดทุน ได้แก่
-
บุคลากรดี
-
เครื่องจักรดี ควบคุมการทำงานได้ดี
-
การติดตั้งดี
-
วัตถุดิบดี
มีสุภาษิตบทหนึ่งพูดไว้ว่าการเพิ่มราคานั้นยากมากเพราะในเวลานี้มีคู่แข่ง
แต่ถ้าเราสามารถสีข้าวได้คุณภาพดี ลดต้นทุนในการทำงาน จนเกิดความเสียหายน้อยกว่าคนอื่น เราก็มีกำไรเพิ่มขึ้น
ในยุคของสมาร์ทโฟนนี้ เครื่องจักรทุกคนอาจจะใช้ได้เหมือนๆกัน แต่การบริหารระบบสำคัญไม่น้อยไปกว่า และไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้
ทุกองค์กรมีวัฒนธรรมองค์กรอันเป็นเอกลักษณ์
การตัดสินใจในข้อมูลที่ต่างกัน ต้นทุนวัตถุดิบต่างกัน ต่างเวลา ต่างสถานที่ ต่างสินค้ากันอยู่เสมอ
สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้ผลลัพธ์ออกมา ไม่ค่อยเหมือนกันเลย
ผมตั้งใจแบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ 60 กว่าปีในเรื่องเครื่องสีข้าว และเทคโนโลยีในการสีข้าว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจจะสร้างโรงสี เจ้าของโรงสีมือใหม่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์โรงสี หรือ โรงสีชุมชน
เราภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมข้าวไทยที่มีชื่อเสียงและคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน
ด้วยความปรารถนาดี
วิสูตร จิตสุทธิภากร
8 ม.ค. 2562