เขียนเลียบค่ายมาตั้งหลายวันแล้ว ยังไม่เข้าถึงร้านสีซะที จริงๆแล้วการสีข้าวเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการสีข้าวที่สำคัญ แต่โรงสีข้าวนั้น กิจกรรมหลังจากที่ได้ตกลงซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรชาวนาลงพื้นปูนซีเมนต์แล้วก็ยังไม่หมด
ถ้าจะว่าไปแล้ว งานเพิ่งเริ่มต้นต่างหาก เพราะข้าวเปลือกทุกเมล็ด ต้องเข้าตู้อบทันที ถ้าทิ้งไว้ไม่กี่ชั่วโมงก็จะมีความร้อนขึ้นในกองข้าว สังเกตดูบางโรงสี ตู้อบไม่พอต้องย้ายกองข้าวเปลือกหรือเกลี่ยออกตากแดดไว้สักหลายชั่วโมง ป้องกันการเสียหายจากข้าวเปลือกเสื่อมคุณภาพ
การอบลดความชื้นก็มีเทคนิคมากมาย ตู้อบแต่ละข้าวก็ไม่เหมือนกัน มีแบบคอลัมน์ แบบซิกแซกสลับไปมา (LSU) ทั้งสองแบบใช้ความร้อนไม่เหมือนกัน ความเร็วในการอบก็ต่างกัน ความร้อน ความเร็ว และคุณภาพของข้าวเปลือกเป็นตัวคูณกัน กล่าวคือ
ถ้าอบเร็ว อบร้อน ก็ป่นมาก
ถ้าอบน้อย ร้อนมาก ยิ่งป่นมากกว่า
ถ้าอบช้า ความร้อนน้อย และมีเวลาพักตัวให้ข้าวได้คลายความร้อน จนจะได้ข้าวเปลือกที่ดี (เราเรียกกันว่าคลายเครียด) ป๊าว่าคนที่เครียดนั้นไม่ใช่ข้าวเปลือกแต่เป็นเจ้าของโรงสีมากกว่า
ในกรณีที่มีการนำข้าวเปลือกอบเพื่อนำไปเป็นข้าวปลูก (พันธุ์ข้าว) ต้องให้ความร้อนไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส ไม่เช่นนั้นเยื่อเจริญจะตาย ข้าวจะไม่งอก ข้าวเปลือกก็มีชีวิตที่จะสืบสายพันธุ์ของมันต่อไปแต่ถ้าถูกอบด้วยความร้อนสูงข้าวเปลือกก็จะตายได้เหมือนกัน ใครที่ต้องการทำข้าวปลูกต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
เมื่ออบข้าวได้แล้วต้องตากผึ่งไว้อีก 24 ชั่วโมงเพื่อให้ข้าวเปลือกคลายความร้อน เพราะเมื่อข้าวเปลือกรับความร้อนผิวข้าวเปลือกจะแห้ง น้ำหรือที่เราเรียกว่าความชื้น จะเข้าไปอยู่ด้านในคือเมล็ดข้าวจะเปียกมาก เมื่อออกจากตู้อบ หรือไม่ให้ความร้อนแล้ว ปล่อยให้ข้าวเปลือกไหลผ่านอยู่ในตู้อบแต่เป่าลมธรรมชาติเข้าไป (เราเรียกว่าเครื่องเป่าเย็น) ข้าวเปลือกก็จะคลายความชื้นผ่านเปลือกข้าวออก แล้วข้าวเปลือกนั้นก็จะแห้งทั้งภายในและภายนอก ถ้าจะให้มีคุณภาพในการสีที่ดี ต้องทิ้งไว้สักหนึ่งหรือสองวันจึงจะนำเข้าไปทำการสีแปรสภาพข้าวเปลือกได้
จากการซื้อ มาถึงการอบ และก็จะได้เข้าทำการสี ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับข้าวเปลือกที่จะนำมาสีให้ละเอียดก่อน คือ การนำข้าวเปลือกที่จะทำการสีนั้นมาทดสอบด้วยเครื่องมือที่มีอยู่หน้าออฟฟิศ เราเรียกว่าเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก
เครื่องมือนี้ช่วยหาผลผลิตที่จะได้จากข้าวเปลือกชุดนั้นๆว่าเมื่อทำการสีแล้วจะได้ของที่คำนวณไว้หรือไม่มีกำไรหรือขาดทุน คุณภาพข้าวสารเป็นอย่างไร เพื่อจะได้รับออเดอร์ลูกค้าได้ถูกต้อง
ไม่ใช่ว่านำข้าวเปลือกชัยนาท 1 มาแล้ว จะสีออกมาเป็นข้าว กข หรือสุพรรณ 60 เมื่อรับข้าวสารแบบไหนก็ต้องนำข้าวเปลือกพันธุ์นั้นๆออกมาสี เพราะเราเก็บไว้หลายยุ้งหลายคุณภาพและยังมีหลายความชื้นอีกด้วย ฉะนั้นการตรวจสอบคุณภาพของการสีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ตัวอย่างในการทำงานของเครื่องมือ
นำข้าวเปลือกมาชั่ง 100 กรัม นำเข้าเครื่องกระเทาะเทลงเครื่องประมาณ 2 รอบ เพื่อกะเทาะให้ได้เข้ากล้องทั้งหมด แกลบรำปล่อยทื้งไป นำข้าวกล้องที่ได้ไปเข้าตะแกรงกลมเพื่อหาน้ำหนักข้าวกล้องเต็มเมล็ด ข้าวกล้องหัก แล้วนำทั้งสองตัวเลขมารวมกันก็จะได้น้ำหนักรวม ซึ่งจะบอกเราว่าข้าวชุดนี้เป็นข้าวเปลือกหนาหรือข้าวเปลือกบาง สีข้าวกล้องเต็มเมล็ดได้กี่กรัม ข้าวหักกี่กรัม
ส่วนการหาคุณภาพข้าวสาร ทำได้โดยนำข้าวเปลือก 100 กรัม ใส่ในเครื่องขัดขาวแบบเหล็ก ตั้งด้ามน้ำหนักกด และตั้งเวลา 1 นาที เปิดให้เครื่องทำงานขัดข้าวเปลือก เมื่อเครื่องหยุดแล้ว ก็จะได้ข้าวสาร นำออกมาใส่ตะแกรงกลม
คัดแล้วก็นำมาชั่งเพื่อหาน้ำหนักของข้าวต้น ข้าวหัก แล้วนำมาคำนวณหาตัวเลขของข้าวขาวและผลผลิตทั้ง 10 รายการ แทนค่าด้วยราคาปัจจุบันบวกกับค่าใช้จ่ายในร้านสีทุกรายการ อ๋อ อย่าลืมคิดค่าเสื่อม ค่าดอกเบี้ย เงินกู้ด้วย เมื่อได้แล้วนั่นคือต้นทุนในการตั้งราคาเพื่อเป็นราคาบอกขายลูกค้า
ทั้งนี้ยังไม่ได้เสร็จสิ้นเพียงแค่นั้น
เพราะว่าข้าวที่นำมาสุ่มตัวอย่างนั้นเพียง 100 กรัม ข้าวเกวียนหนึ่งมีน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม 100 กรัมคูณด้วย 1000 หรือเท่ากับ 1,000,000 กรัม แล้วเรานำมาเพียงหนึ่งร้อยกรัม (อัตราส่วน 1:10,000) จะมาหาค่าที่แท้จริงได้อย่างไร?
การคำนวณที่ใกล้ความจริง คือต้องชั่งข้าวเปลือกทุกครั้งที่ตักไปในบ่อเพื่อทำการสีข้าวแล้วคำนวณทุกรอบการสีข้าวว่าผลผลิตเป็นอย่างไร ต้นทุนจริงๆอยู่ตรงไหน ตรงหรือใกล้เคียงกับตัวอย่างที่เราคำนวณไว้หรือไม่
บางคนคิดว่าการสุ่มตัวอย่างนั้นก็ใช้ได้แล้วไม่จำเป็นต้องหาตัวเลขที่สีได้จริงๆ เพราะว่าในยุคปัจจุบันร้านสียุคใหม่เขานิยมสีแล้วใส่เครื่องชั่งไหลผ่านขึ้นถังสต๊อก ทำให้ตัวเลขบางตัวออกมาไม่ชัดเจน การคำนวณต้นทุนบางครั้งก็พลาดได้ง่ายๆ
ไหนๆก็พูดถึงเรื่องเครื่องชั่งแล้ว เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังต่อนะ
การสีข้าวแบบปิดตานั้นทำให้การคำนวณต้นทุนผิดพลาดมาเยอะแล้ว ในอดีตการสีข้าวมีกำไรมาก คิดแค่ข้าวต้น ข้าวท่อนก็พอแล้ว ที่เหลือคือกำไร
แต่ยุคต่อมาคิดกันถึงรำละเอียด ข้าวปลาย ในยุค พ.ศ. นี้เขาคิดกันถึงแกลบแล้ว เพราะค่าแกลบที่แพงขึ้นปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 50 สตางค์ ข้าวเปลือกหนึ่งเกวียน จะสีข้าวได้แกลบโดยเฉลี่ย 220 กิโลกรัม เป็นเงิน 110 บาท เงินก้อนนี้สามารถนำมาจ่ายเป็นค่าไฟฟ้าได้อย่างสบาย
ที่นี้ก็มาแข่งขันกันที่ใครใช้ไฟฟ้าในการสีข้าวประหยัดที่สุดก็จะมีกำไรมากกว่าคนอื่น
ลูกต้องเริ่มต้นจากการชั่งข้าวเปลือกที่จะนำมาเข้าร้านสีทุกครั้ง แต่เดิมก็ใช้ชั่งรถที่นำเข้าร้านสี หรือชั่งข้าวที่ตักมาบนรถตักเพื่อจะชั่งน้ำหนักขาเข้า ซึ่งมีความผิดพลาดไม่มากนักพอคำนวณได้ระดับหนึ่ง
ในปัจจุบันเราได้ติดตั้งเครื่องชั่งข้าวเปลือกแบบไหลผ่าน คือ เครื่องชั่งจะทำการช่างข้าวเปลือกทุกเมล็ดที่กะพ้อตักเข้าร้านสี ป๊าแนะนำว่าต้องชั่งข้าวเปลือกที่ยังไม่ได้ทำความสะอาด เพราะจะได้น้ำหนักที่แท้จริงกับต้นทุนข้าวเปลือกที่นำเข้าไปในร้านสี
เมื่อข้าวเปลือกได้ถูกตักเข้าไปในตะแกรงทำความสะอาด เพื่อร่วมขบวนการสีข้าวไปตามขั้นตอน จนถึงขาออกทางเครื่องชั่งหลายทาง ด้านข้าวสารซึ่งมีข้าวต้น ข้าวหัก ข้าวท่อน ข้าวปลาย เครื่องชั่งทุกตัวจะบอกน้ำหนักของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อัตราส่วนต่างๆ จะบอกถึงคุณภาพของข้าวเปลือกนั้นๆว่าคุณภาพเป็นอย่างไร จะมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร จริงๆแล้วต้องชั่งรำด้วย ส่วนแกลบนั้นน่าจะอนุโลมได้
แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีการตัดทอนการสีข้าวเป็นงวดๆ เช่นในหนึ่งสัปดาห์ หรือหนึ่งยุ้ง หนึ่งกองข้าวเปลือก หรือเป็นชุดๆ ที่แยกตามชนิดของข้าวเปลือกเพื่อหาต้นทุนที่แท้จริง
ข้าวเปลือกที่เราคำนวณเวลาซื้อนั้น เราต้องตั้งไว้ที่น้ำหนักกี่กรัม สีแล้วได้กี่หาบ (หาบหนึ่ง เท่ากับหกสิบกิโลกรัม เป็นศัพท์ที่ใช้กับน้ำหนักข้าวสาร)
ในอดีตที่ผ่านมา ทุกร้านสีมีบี่แป๊ (จุดแพ็คข้าวสาร) ที่มีพนักงานยืนยกกระสอบข้าวที่ออกมาทุกกระสอบ
อัตราส่วนจะเห็นชัดว่าในแต่ละกะ (การแบ่งเวลาของการทำงานเราเรียกเป็นกะ นิยมแบ่งเป็น 3 กะๆ ละ 8 ชั่วโมง) เช้าขึ้นมาเสมียนก็ไปยกกระดานมาลอกว่าเมื่อวานนี้ 3 กะสีข้าวได้กี่กระสอบ คุณภาพ ข้าวสาร อัตราส่วนเป็นอย่างไร ได้ข้าวต้น ข้าวสามส่วน ข้าวท่อนกี่กระสอบ แล้วก็นำตัวเลขนี้ไปคำนวณ ตัดสต็อกข้าวเปลือก
ในอดีตการแข่งขันไม่สูงมากนักการสีข้าวพอมีกำไร ข้าวเปลือกราคาไม่แพงมาก เคลื่อนไหวของราคาก็ไม่วูบวาบรวดเร็วเช่นปัจจุบัน
ที่ลูกได้ยินที่เขาพูดว่าสีข้าวได้ 8 หาบ หรือ 8 หาบ 30 ชั่ง (1 หาบ มี 60 ชั่ง) เรียกว่าได้ข้าวเป็นเมล็ดหรือข้าว 100%
แต่ในยุคนี้ หลายโรงสีเขาสีข้าว 5% เมื่อเราฟังข้อมูลมาจึงสับสนเล็กน้อยว่ามาตรฐานไหนกันแน่ ทำไมจึงสีข้าวได้ข้าวต้นมากนัก ทั้งที่ข้าวเปลือกที่นำเข้าไปสีก็ไม่ได้สวยมากนัก (จำนวนกรัมไม่มาก)
แล้วยังมีข้อมูลอีก คือว่า สีข้าวขาวขนาดไหน (วัดด้วยเครื่องวัดความขาว) ปกติหน่วยวัดความขาวจัดแสดงผลที่ 43 จุด หรือ 44 จุด หรือ 45 จุด
แต่ละความขาวที่เกิดขึ้นมาจากการขัดสีที่มากหรือน้อย ถ้าขาวมากก็แตกหักมาก ถ้าขาวน้อยกว่า ก็จะแตกหักลดลง ถ้าเราสามารถทำความขาวได้ถูกใจผู้ซื้อและลดการแตกหักได้ (ได้ข้าวเต็มเมล็ดมากกว่า) นั้นจึงเรียกว่าสุดยอดของการสีข้าว
ลูกต้องคุยได้ยินคำว่ากากข้าวหรือข้าวกาก ฟังแล้วงงใช่ไหม?
กากข้าว คือ เมล็ดข้าวเปลือกที่หลุดรอดเดินทางผ่านขบวนการสีทั้งหมดระยะทางไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร มาถึงกระสอบข้าวต้นได้อย่างอัศจรรย์ กากข้าว หรือข้าวกากนี้ ทำให้ราคาข้าวสารตกลงมาก ในกระสอบข้าวต้นหนึ่งกระสอบ ถ้ามีหลุดมาซัก 100 เมล็ด ราคาคงลดลงหลายบาททีเดียว
ปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงมาทำการเก็บกาก คือ เครื่องแยกเมล็ดข้าวสามสี (color sorter) ที่เราเรียกทับศัพท์ว่าเครื่องยิงสี ราคาตัวละหลายล้านบาท ใช้เก็บความละเอียดในขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะบรรจุลงถึงเพื่อส่งออกต่างประเทศ
แล้วทำไมจึงมีกาก? อันนี้น่าสนใจ
เพราะว่ากากนั้นมาจากตะแกรงโยก ตะแกรงโยกที่ดีจะคัดแยกข้าวกล้องและข้าวเปลือกออกได้ชัดเจน คือ ด้านข้าวเปลือกจะไม่มีข้าวกล้องติดมาด้วย ด้านข้าวกล้องก็จะต้องไม่มีข้าวเปลือกติดไป อย่างนี้เป็นต้น
เมื่อไม่มีข้าวเปลือกติดไปกับข้าวกล้องแล้ว ข้าวกาก (ข้าวเปลือก) ก็จะไม่มี อันนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรหลายรายการ
หากว่าโรงสีใช้หินโคน (cone-type) หรือที่เราเรียกทับศัพท์ว่าเห็นโคนไทป์ ที่ใช้มาตั้งเป็นร้อยปีแล้วนั้น กากเพชรและยางเส้นจะทำการคัดอย่างนุ่มนวล กากข้าวหรือข้าวเปลือกที่มีข้าวขาว ก็จะถูกขัดออกกลายเป็นเศษรำหยาบ ออกไปกับรำละเอียดครั้งที่หนึ่ง
เมื่อขัดด้วยหินโคน 2-3 ครั้ง จึงไม่มีปัญหาเรื่องข้าวเปลือก (กาก) ติดไปถังข้าวสาร
ไม่ต้องมาทำงานซ้ำซ้อนที่จะต้องมานั่งเฝ้าตักกากบนตะแกรงเหลี่ยมข้าวสารอีกครั้ง ลองคิดดูว่าข้าวเปลือกที่เดินทางหลุดมาจากตะแกรงโยก เราต้องมีงานทำมากขนาดไหน
ตะแกรงโยก คือ กระเพาะอาหารของร้านสีที่สำคัญมาก
แล้วทำอย่างไรตะแกรงโยกจึงเป็นงานได้ดี อันนี้ไว้ป๊าจะเล่าให้ฟังว่า การติดตั้งการออกแบบตะแกรงโยกนั้นมีที่มาจากประเทศเยอรมัน เพราะสมัยก่อนช่างกวางตุ้ง (ไซ่หู้) เขาจะเรียกว่า เต๊กก๊กไท แปลเป็นไทยว่า ตะแกรงจากประเทศเยอรมัน
และปัจจุบันตะแกรงโยกโมเดลนี้ก็ยังผลิตอยู่เป็นสแตนเลสทั้งตัวราคาแพงมาก มีหลายยี่ห้อจากฝั่งยุโรป บริษัทในไทยเรามีขนาดจัมโบ้ ช่องหนึ่งคัดได้เกือบ 2 เกวียนต่อ 24 ชั่วโมง มีโรงสีโรงหนึ่งบอกว่าใช้มานานกว่า 10 ปีก็ยังใช้ได้ดี ป๊าว่าสมัยนี้ใช้อินเวอร์เตอร์ช่วยปรับรอบทำให้คัดได้ดี เพราะว่ารอบวิ่งสม่ำเสมอ เร็วบ้างช้าบ้าง ข้าวกล้องจึงออกมาดี เกือบลืมไป! ตะแกรงโยกนี้ แต่ละช่างจะออกแบบช่วงชักจะยาวไม่เท่ากัน
เริ่มตั้งแต่ช่างรุ่นเก่าออกแบบช่วงชักไป-มา 7 นิ้วครึ่ง แล้วก็มาถึง 8 นิ้ว ขนาดจัมโบ้เริ่มที่ 9 นิ้ว ปัจจุบันที่โรงงานยนต์ผลดีได้ทำรุ่นชักไป-มา 11 นิ้ว แล้วสำหรับตะแกรงโยกรุ่นซุปเปอร์จัมโบ้
ไว้ฉบับหน้าเจอกันใหม่นะ
คิดถึงเสมอ
ป๊าของลูก
————————–
ผมตั้งใจแบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ 60 กว่าปีในเรื่องเครื่องสีข้าว และเทคโนโลยีในการสีข้าว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจจะสร้างโรงสี เจ้าของโรงสีมือใหม่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์โรงสี หรือ โรงสีชุมชน
เราภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมข้าวไทยที่มีชื่อเสียงและคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน
ด้วยความปรารถนาดี
วิสูตร จิตสุทธิภากร
23 ต.ค. 2561