เมื่อวานนี้ได้ต้อนรับลูกค้าท่านหนึ่งจากจังหวัดพิษณุโลก ท่านมาเยี่ยมเยียนกันคุยปรึกษาเรื่องหินข้าวขาว หรือที่เรียกกันเล่นๆว่า ลูกแก้วสารพัดนึก ลูกค้าสีข้าวมากว่า 2 ปีแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ เมื่อนำข้าวเปลือกมาคิดคำนวณจากเนื้อข้าว ความชื้น เปอร์เซ็นต์ข้าวกล้อง-ข้าวขาว ในระยะนี้ ข้าวต้น (ข้าวเต็มเมล็ด) ไม่ได้ตามน้ำหนักที่คำนวณไว้
ทั้งๆที่ในปีแรกสีได้ดีมาก จริงๆแล้วหลังจากที่ได้ทำการสีข้าวมากกว่า 2 ปี น่าจะทําได้ดีกว่า ถ้าคิดแบบง่ายๆ ก็พอใช้ได้แต่เมื่อมาคิดให้ละเอียด เพราะเราซื้อข้าวเปลือกราคาเต็มเกจ์ แบบว่าสุดๆอยู่แล้ว
เมื่อสีขายข้าวสารราคากรุงเทพฯที่เราๆเรียกว่าราคาลอยตัว (คือเช้าราคาหนึ่่ง บ่ายอีกราคาหนึ่ง พรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่) แล้วดีดค่าใช้จ่ายไม่ออก จึงทำให้สงสัยว่า ปัจจุบันมีการสีข้าวที่ก้าวหน้ากว่านี้หรือไม่อย่างไร หรือว่าลืมระเบียบข้อไหนของร้านสี
ก็ได้คุยกันหลายเรื่อง ตั้งแต่การตากข้าวเปลือกบนพื้นปูนซีเมนต์ การทำความสะอาด การกระเทาะข้าวเปลือกด้วยเครื่องอัตโนมัติ ตะแกรงโยกปรับด้วยมอเตอร์เรื่อยมาจนถึงเรื่องกากเพชร
การเลือกซื้อกากเพชรเป็นปัจจัยหลัก เพราะในปัจจุบันกากเพชรมีหลายยี่ห้อ หลายขนาด เบอร์ต่างๆ ของแต่ละยี่ห้อก็ไม่เท่ากัน ปูนขาวก็ไม่มีอัตราส่วนผสม พนักงานขายก็ว่าคุณภาพเยี่ยมทุกที่ อย่างนี้ทุกครั้งเวลาซื้อ มาถึงเกลือเกล็ดที่ใช้ผสม เวลาต่อความเค็มหรือที่เราเรียกว่าความถ่วงจำเพาะ เหล่านี้คือ ข้อแตกต่างในเรื่องวัตถุดิบที่เรานำมาผสม ยังมีเรื่องเวลามาเกี่ยวข้องอีก
ท่านยังคิดไปถึงความชื้นสัมพันธ์ในอากาศขณะที่ทำการพอก แต่ละครั้งส่วนผสม เวลาในการผสม เหล่านี้เป็นตัวแปรที่สำคัญ หลายท่านคงแปลกใจว่าครั้งก่อนทำแล้วใช้ได้ดีครั้งนี้ทำไมไม่เหมือนเดิม แม้ว่าใช้พนักงานคนเดิม ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือ หลุด ร่อน เป็นหลุม ใช้หมดเร็ว ผิวหยาบต้องกินบ่อยๆ
กากเพชรที่พอกลูกหิน (แก้วสารพัดนึก) คือหัวใจของร้านสี การสีข้าวจะดีหรือไม่ดีเลยหากว่าการพอกกากเพชรไม่สมบูรณ์
สมัยก่อนนี้ การพอกกากเพชรเป็นสูตรลับ คนพอกกากเพชรเป็นคนรักษาเทคนิคนี้อย่างเหนียวแน่น ถึงขนาดมีการซื้อตัวว่าจ้างให้ไปพอก เพราะว่าการสีข้าวแต่ละเกวียนนั้นผลจะต่างกันมากเมื่อกลับเพชรไม่ดี (อันนี้ทุกท่านยอมรับว่าเป็นจริง) แล้วยิ่งสูตรส่วนผสมนั้น ท่านคงเคยชมโฆษณาซอสถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งในโทรทัศน์ที่บอกว่า “สูตรใครก็สูตรใคร…บอกได้ไง”
มาถึงโรงสีข้าว ในยุคโลกาภิวัตน์ การผสมกากเพชรที่เป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าของพนักงาน ที่จะต้องหยุดร้านสีเพื่อกะเทาะกากเพชร แล้วผสมอากาศด้วยเทคนิคเฉพาะตัวนั้นเริ่มคลี่คลาย เพราะว่าคนทำหายาก บางโรงสีจึงต้องหันมาใช้เครื่องจักรทุ่นแรงแทน เช่น เครื่องกระแทกความถี่สูงด้วยลมเพื่อกะเทาะกากเพชรออกจากลูกเหล็ก ส่วนการผสมก็มาใช้เครื่องผสมกากเพชรแทน
เครื่องผสมกากเพชรขายดีที่ผมผลิตขึ้นมานั้น ผลิตมามากกว่า 5 ปีแล้ว ก็เป็นเจ้าแรกอีกนั่นแหละที่ประมวลเอาความคิดของท่านเจ้าของโรงสีที่มีปัญหาเรื่องทางพอกกากเพชร นำมาออกแบบตามแนวความคิดต้องผสมน้ำหนักเครื่องละกี่กิโล หมุนรอบเท่านี้ ต้องผลิตกากเพชรให้ทั่วด้วยใบแซะ มีลูกบดเพื่อกดให้กากเพชรเข้ากับเนื้อปูน พื้นต้องเป็นเหล็กหล่อ ต้องเปิดด้านล่างได้สะดวก ไม่รั่วน้ำ ซีลต้องสนิท เพราะถ้าน้ำเกลือเข้าลูกปืนก็แย่เลย ที่สำคัญต้องเคลื่อนที่ได้เพราะว่าเมื่อใช้งานเสร็จแล้วจะได้นำไปเก็บได้
จึงออกมาเป็นเครื่องผสมกากเพชรที่สมบูรณ์ แก้ปัญหาเรื่องการผสมผิดพลาด ลดความเบื่อหน่าย เมื่อยล้าของพนักงานร้านสี แม้เมื่อเราได้สูตรที่ดี ทุกครั้งที่เราผสมจะได้คุณภาพดีเท่าเทียมกัน เพราะการผสมด้วยเครื่อง เนื้อปูนจากข้าวผสมกากเพชรได้ดีถึงเนื้อปูน น้ำเกลือจะแทรกทั่วถึง เราสามารถควบคุมเวลาและความเหนียวของกากเพชรได้อย่างดีเมื่อนำมาใช้งาน จึงลดปัญหาเรื่องการผสมและเรื่องกากเพชรหลุดร่อน ไม่เรียบ ไปได้มาก ใช้งานได้เป็นเวลานานกว่า หรือจะบอกว่าสีข้าวได้มากเกวียนกว่าหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ข้าวสาร ออกมาก็จะได้คุณภาพดีเหมือนกันทุกครั้ง
ที่กล่าวมานี้พิสูจน์ได้ กล้ารับประกันคุณภาพเพราะเราเป็นต้นตำรับอยู่แล้ว ถ้าการสีข้าวของท่านได้น้ำหนักข้าวเป็นเมล็ดลดลง ภาษาร้านสีข้าวเรียกว่า “หาบตก”
ท่านลองคิดถึงกากเพชรในลูกแก้วสารพัดนึกของท่านว่ายังอยู่ในสภาพอย่างไร มีปัญหาตามข้างต้นหรือเปล่า เพราะหลายท่านคิดแต่จุดอื่นๆ เช่น ข้าวเปลือกปีนี้ฝน สีออกมามีปลายข้าวมากกว่าปกติจึงละเลย ไม่สนใจปัญหาในร้านสี จริงๆแล้วการสีข้าวให้ได้ดีนั้นมีรายละเอียดมากมาย
ลูกค้าที่มีเยี่ยมเยียนกัน ก่อนกลับยังกำชับว่า อย่าลืมเขียนเรื่อง “แกลบ คือ ขุมทรัพย์หลังโรงสีข้าว” ด้วย หลายโรงสีขายแกลบไม่ได้ราคาเพราะว่ามีสิ่งเจือปน พูดแล้วฟังดูตลก แกลบราคาถูกแสนถูกจะยังมีการตัดสิ่งเจือปนอีกหรือ
ตัวแกลบแห้งสวยๆ ราคา 0.20 บาทต่อกิโลกรัม วันไหนราคาแกลบอ่อนตัวลง พ่อค้าแกลบไม่มาซื้อ ของก็เหลือเยอะแยะเกะกะหลังโรงสี จึงโทรศัพท์เรียกเข้าประจำมาขึ้น เขาบอกว่าถ้าของเฮียต้องราคาถูกกว่านี้ เพราะเขากำลังขึ้นที่อื่นอยู่ เพราะแกลบของเฮียมีสิ่งเจือปน คือมีดินและลูกรังปนมาด้วย แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม
เมื่อแกลบใกล้หมด ปุ้งกี๋รถตักจะต้องตักโดนพื้นดินบ้าง เรียกว่ามีดิน หินลูกรัง ติดไปเพียงเล็กน้อย คิดว่าไม่เกิน 50 กิโลกรัม แต่ถูกตัดราคาแกลบบนรถนั้น น้ำหนักประมาณ 5.000 กิโลกรัม จากราคา 0.20 เหลือ 0.10 เรียกว่าหายไป 50% ทีเดียว
คิดแกลบรถหนึ่ง 1,000 บาท ถูกตัดไปถึง 500 บาท แล้วคนซื้อยังมาติเราอีกด้วย
โรงสีจึงตัดสินใจเทปูนบริเวณที่กองแกลบเดิมเนื้อที่หลายไร่เพื่อเอาใจพ่อค้าแกลบ ฟังดูแล้วน่าจะเว่อร์ แต่ถ้าคิดให้ละเอียดก็ต้องทำ ปัญหาแกลบขายไม่ได้สร้างภาระอย่างใหญ่หลวง เพราะผู้ขายมีมากกว่าผู้ซื้อ
แกลบที่ติดกับพื้นดิน เวลาฝนตกเปียกน้ำ ตัดหญ้า รถตักเสียบ่อยผู้ซื้อไม่สนใจ ฉันจะตักไปกองไว้ที่อื่นก่อนก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย 2 ต่อ ถ้าร้านสีท่านเป็นโรงสีที่ใช้ระบบไฟฟ้าสีข้าววันละ 100- 250 เกวียนขึ้นไปแล้ว แกลบเท่านั้นที่จะมาช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสีข้าว มันจะช่วยท่านจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าได้ส่วนหนึ่งทีเดียว
“ถ้าท่านไม่ได้ขายแกลบซักระยะหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะมากจนท่านเองนึกไม่ถึง”
หลังเทปูนแล้ว อาจจะสร้างโรงคลุมขนาดพอประมาณเพื่อไว้แกลบด้วย เพื่อว่าแกลบจะได้ไม่เสียราคา เรื่องนี้จึงมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะ อย่างไรก็ตามถ้าข้าวสารราคาดี แกลบขายได้ ไม่เต็มหลังร้านสี ทุกท่านก็แฮปปี้ ครึ่งปีหลังนี้ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการสีข้าวนะครับ
————————–
ผมตั้งใจแบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ 60 กว่าปีในเรื่องเครื่องสีข้าว และเทคโนโลยีในการสีข้าว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจจะสร้างโรงสี เจ้าของโรงสีมือใหม่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์โรงสี หรือ โรงสีชุมชน
เราภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมข้าวไทยที่มีชื่อเสียงและคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน
ด้วยความปรารถนาดี
วิสูตร จิตสุทธิภากร
10 ก.ย. 2561