คลิกที่นี่เพื่อฟังเสียงคุณวิสูตรเล่าให้ฟังได้เลยครับ
—————————————-
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การสร้างโรงสีข้าวก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ละจังหวัดก็มีกำลังผลิตเพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่าอดีตที่ผ่านมา กำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายกว่าปริมาณข้าวเปลือกที่เพิ่มขึ้นเหมือนกัน แต่ไม่เป็นทวีคูณเหมือนกับกำลังผลิตของโรงสีข้าว
แน่นอนในการทำธุรกิจเสรีที่มีการแข่งขัน ทุกโรงสีก็พัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์การสีข้าว เครื่องสีข้าว การบรรจุ การส่งการจำหน่าย ก็ต้องพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อชิงความได้เปรียบในด้านการค้า
มีหลายท่านบอกว่าเครื่องจักร เทคนิคการสีข้าว อุปกรณ์ที่มีความสำคัญและราคาสูงนั้น ทุกโรงสีมีความสามารถในการซื้อและติดตั้งได้ไม่แพ้กัน ไม่ยอมน้อยหน้าแม้ว่าราคาจะแพงมากก็ตาม แต่การสีข้าวนั้น ไม่ใช่ว่า มีแค่เครื่องอุปกรณ์เท่านั้นก็สีข้าวได้
สิ่งสำคัญที่สุดคือ คน
เพราะถ้าไม่มีคนที่เอาใจใส่ดูแลเครื่องและปรับเครื่องให้อยู่ในสภาวะทำงานที่ดี
แม้ว่าเครื่องจะดีขนาดไหนก็ไม่มีความหมาย
หัวใจของโรงสีข้าวนั้นต้องมี “สี่ประสาน” จึงจะเรียกว่าสมบูรณ์ นั่นก็คือ
- พนักงานที่มีความสามารถ
-
เครื่องจักรที่มีคุณภาพ (เหมาะกับข้าวเปลือกและข้าวสารที่กำลังสีอยู่)
-
การติดตั้งที่ดี ระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อน
-
วัตถุดิบที่มีคุณภาพดี
ปัจจุบันเรามักจะได้ยินบ่อยๆคือ “คนงานหายาก” “ผมไม่มีคนเป็น” “ผมหาคนที่ทำงานดีๆไม่ได้” “ไม่มีคนพอกหินเป็น ไม่มีคนใช้หินโคนได้” เหล่านี้คือวลีที่ได้ยินทั่วไป แต่ความจริงก็คือ เราไม่ได้มีการสร้างบุคลากรที่มีความรู้เรื่องการสีข้าวขึ้นมามากเท่าไรเลย
เรามีมหาวิทยาลัยสอนสาขาวิชาชีพมากมาย แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่มีการสอนเรื่องการสีข้าว หรือที่เราเรียกทางวิชาการว่า “เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว” ที่เห็นได้และมีผลงานเป็นรูปธรรมคือ สถาบันราชมงคลวิทยาเขตบางพระ ชลบุรี ซึ่งตัวผมเองได้เข้ารับการอบรมในวิชา “เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว” กับท่านอาจารย์ ผ.ศ. ผดุงศักดิ์ วานิชชัง เมื่อเป็นสิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งท่านได้ให้ความรู้เรื่องการจัดการข้าวเปลือกตั้งแต่อยู่ในท้องนา ผ่านการอบลดความชื้น การทำความสะอาด การเก็บรักษา การสีข้าว การบรรจุ การส่งมอบลูกค้า
เริ่มจากข้าวเปลือกที่ยังอยู่ที่ต้นข้าวในท้องนา ควรที่จะเกี่ยวเมื่อไร อายุของข้าวเปลือกที่ยังติดอยู่ต้นข้าว เทคนิคการใช้เครื่องเกี่ยวที่ดี เสียหายน้อย การอบลดความชื้น จริงๆแล้วการอบลดความชื้นมีอยู่ 2 แบบ คือ
- อบเพื่อจะนำไปเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าว
- อบเพื่อจะนำไปสีเป็นข้าวสาร
เราจะพูดถึงการอบเพื่อจะนำไปสีเป็นข้าวสารคุณภาพดี จมูกข้าวสวย ผิวพรรณของข้าวสารขาวสวย จมูกดี อวบอิ่มเต็มเมล็ด ต้องใช้เครื่องอบลดความชื้นที่ดี การให้ความร้อนต้องสม่ำเสมอ ไม่สูงเกินไป ใช้เวลาในการอบที่เหมาะสมกับข้าวเปลือกที่กำลังทำการอบอยู่ในเวลานั้น
การอบแบบเร็วเพื่อให้ข้าวเปลือกแห้งเร็ว อบได้มากทันอกทันใจ แต่เมื่อข้าวเปลือกแห้งแล้วนำมาเก็บสต็อกไว้ในยุ้ง ไม่นานความชื้นก็จะกลับมา ข้าวท่านก็จะเหลืองเร็ว เหลืองง่ายทั้งๆที่ท่านคิดว่าไม่น่าจะเหลือง อะไรที่เร็วๆทันใจวัยรุ่นนั้น ไม่เหมาะสมกับการอบข้าวเปลือก
โดยเฉพาะข้าวเปลือกนาปี ที่ต้องใช้เวลาเก็บสต็อกนานเพื่อให้เป็นข้าวเก่าใช้บริโภคภายในประเทศ เพราะว่าถ้าท่านศึกษาธรรมชาติของข้าวเปลือกนั้น ความชื้นหรือน้ำจะอยู่กับเนื้อข้าวภายใน การอบให้ความร้อนจากด้านนอกในเวลาสั้นๆเปลือกข้าวจะแห้ง (ร้อนมากและดูเหมือนแห้ง) แต่ข้าวสารที่อยู่ภายในกำลังดูดซับความร้อนและคายความชื้นออกมาทีละน้อยอย่างช้าๆ ถ้าความร้อนมากเกินไปข้าวสารจะแตกร้าวเพราะทนความร้อนและความดันไม่ได้ ข้าวก็จะป่น
การที่เราเว้นช่วงเวลาประมาณ 8 -10 ชั่วโมง ก็เพื่อให้ข้าวเปลือกได้คืนตัวให้ความร้อนแทรกเข้าไปในเมล็ดข้าวและคายน้ำออกมาจากเมล็ดข้าว ข้าวเปลือกจึงจะแห้งอย่างแท้จริง
เครื่องอบมีหลายยี่ห้อ หลายโรงงาน ซึ่งแต่ละแห่งเขาก็โฆษณาว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ท่านต้องเลือกเองใช้วิจารณญาณในการเลือก เพราะว่าราคาชุดหนึ่งๆแพงกว่ารถ เบนซ์ เอส คลาส ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ยังไม่ได้เข้าเรื่องคน เครื่องอบจะดีอย่างไร อัตโนมัติขนาดไหนก็ไม่สามารถทำงานได้ (ได้ดี) หากว่าไม่มีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ (ต้องรู้เครื่อง รู้ข้าว รู้คน)
หลังจากรู้เรื่องการอบลดความชื้นแล้ว ก็มาถึงการเก็บรักษา มีหลายท่านซึ่งเข้าร่วมสัมมนาด้วยการตั้งคำถามว่า ระหว่างไซโลกลมๆเป็นเหล็กสวยงาม สะดวก มีอุปกรณ์ตัวช่วยเยอะแยะ จะเก็บข้าวเปลือกได้ดี หรือว่ายุ้งปูนซีเมนต์ ปัจจุบันได้มีการทำทางลมใต้พื้นยุ้ง เพื่อเป่าลมเข้าไประบายความร้อนซึ่งเทคนิคที่ดีมากและปัจจุบันได้นำไปใช้กันทุกโรงสีแล้วซึ่งได้ผลเป็นที่พอใจ
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของโรงสีข้าว ทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรในร้านสี (คนปล่อยข้าว) ทุกโรงสีบอกว่ามีความสามารถสร้างโรงสีให้ทันสมัยอย่างไรก็ได้ แต่หาคนปล่อยข้าวยากมาก
การที่ขาดบุคลากรในโรงสีอย่างนี้ผลมาจากรัฐบาลไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญในอุตสาหกรรมการสีข้าวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยเรา ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติให้ทุกคนศึกษากันเองแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โรงสีไหนที่ฝึกฝน ให้ความรู้กับพนักงานได้ดีก็ได้พนักงานที่ดี ที่ไม่มีพื้นฐานก็ต้องใช้วิชา ครูพักลักจำ กว่าที่จะมีความรู้ก็ต้องแลกด้วยความเสียหายของข้าวเปลือก ข้าวสาร ซึ่งเป็นเงินของประเทศชาติไปเป็นจำนวนมาก รัฐควรที่จะต้องให้ความสนใจเรื่องเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวให้มาก
ปีหนึ่งๆเราเพาะปลูกข้าวได้ ทั้ง นาปรัง และนาปี รวม 23 ล้านต้นข้าวเปลือก ถ้าข้าวเปลือกทั้งข้าวหอมมะลิ หอมปทุม สุพรรณ ชัยนาท และข้าวเหนียว ราคาเฉลี่ย 7,000 บาทต่อเกวียน เป็นเงินประมาณ 161,000 ล้านบาท นี่คิดเฉพาะข้าวเปลือก ยังไม่ได้คิดเป็นราคาข้าวสารและธุรกิจที่ต่อเนื่องจากข้าวเปลือกอีกมากมาย ส่วนหนึ่งก็ส่งออกไปขายต่างประเทศ ไทยเราติดอันดับส่งออกข้าวสารเลี้ยงพลเมืองกว่าครึ่งโลกทำเงินรายได้เข้าประเทศแบบเต็มๆกว่า 50,000,000 บาท
ถ้าเกษตรกรชาวนา ทำได้ดีขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์
โรงสีข้าวลดการเสียหายจากการสีข้าว อีก 10 เปอร์เซ็นต์ คิดดูว่าเป็นเงินมากมายมหาศาลเพียงใด
แต่ก็ไม่มีใครที่นำมาคิดเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาบุคคล
อีกเรื่องหนึ่งที่น่านำมาคิด คือปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง (ไม่ใช่ทุกแห่ง) ได้ใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งถ้ามองระยะสั้นอาจจะดี เพราะไม่มีแรงงานของไทยเราทำงานบางประเภท แต่ถ้ามองยาวแล้วการพัฒนาของชาติจะแย่ลงเพราะไม่มีการพัฒนาความรู้ในวิชาชีพนั้นๆ
แต่วันนี้การเริ่มต้นใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว โรงเรียนวิทยาลัยการอาชีพจังหวัดนครสวรรค์ และอุทัยธานี พิจิตร และ จังหวัดลพบุรีอีกหลายโรงเรียนระดับ ป.ว.ช และ ป.ว.ส. ได้เปิดหลักสูตรเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยว ได้เริ่มเปิดรับนักเรียน ตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ผ่านมา ทำให้มีความหวังที่ปลายอุโมงค์ ว่าอนาคตไม่นาน เราจะมีนักศึกษาที่จบมาเพื่อป้อนตลาดแรงงานภาคการสีข้าว เพราะที่ผ่านมาก็ได้แค่ฝากความหวังไว้ที่อาจารย์ ผ.ศ. ผดุงศักดิ์ วานิชชัง มาตลอด
จบเรื่องคนก็มาถึงเครื่อง ระบบการสีข้าวนั้นมีขั้นตอนมากมาย แต่ละขั้นตอนนี้ยังแยกย่อยไปอีก การติดตั้งเครื่องจักรนั้นเราต้องกำหนดความต้องการไว้ว่าเราต้องสีข้าวแบบไหน บรรจุอย่างไร เพราะเครื่องจักรมีให้เลือกมากมายพอๆกับออปชั่นในรถยนต์ซึ่งมีให้เลือกอย่างจุใจ คร่าวๆก็มีดังนี้
- ตะแกรงทำความสะอาดข้าวเปลือก
- ตะแกรงคัดดอกหญ้า
- เครื่องกะเทาะข้าวเปลือก
- ตะแกลงคัดข้าวแกลบ รำหยาบ จมูกข้าว
- ตู้สีฝัดระบบลมหมุนเวียน / ตู้สีฝัดระบบเปิด
- ตะแกรงเก็บฟางจากข้าวกล้อง
- ตะแกรงโยกข้าวกล้อง
- ตะแกรงคัดแยกกรวด
- เครื่องขัดข้าวครั้งที่ 1
- เครื่องขัดข้าวขาวครั้งที่ 2
- เครื่องขัดข้าวขาวครั้งที่ 3
- ตะแกรงแยกข้าวปลานก่อนลงขัดมัน
- เครื่องขัดมันครั้งที่ 1
- เครื่องขัดมันครั้งที่ 2
- ตะแกรงคัดเปอร์เซ็นต์ข้าวสาร / ข้าวต้น / ข้าวรวม / ข้าวท่อน / ข้าวปลาย
- ตะแกรงกลมเบอร์ต่างๆตามขนาดมีให้เลือก
- เครื่องชั่งไหลผ่าน เพื่อชั่งน้ำหนักข้าวชนิดต่างๆเพื่อนำไปคิดเปอร์เซ็นต์การสีข้าว
- ถังพักข้าวชนิดต่างๆ
- ถังพักเพื่อการบรรจุ
- เครื่องชั่งบรรจุ
- ต้นกะพ้อประจำที่ต่างๆ
- พัดลม บอลลูน ท่อส่ง ท่อดูด
- สายพานลำเลียง สกรูลำเลียง
- มอร์เตอร์ประจำเครื่อง
- สายไฟฟ้าแส่งสว่าง สายไฟฟ้าระบบควบคุม ตู้ควบคุม คอมพิวเตอร์ควบคุมระบบ
- เครื่องยิงสี
- ปั๊มลม
ที่เขียนมาข้าวต้นคืออุปกรณ์มาตรฐานในร้านสี ซึ่งยังมีการแยกย่อยออกไปอีกว่าจะติดตั้งแบบไหน รุ่นไหน จำนวนกี่ตัว ยี่ห้ออะไร เป็นต้น การเลือกซื้อนั้นต้องตั้งโจทย์ไว้ว่าท่านต้องการสีข้าวชนิดไหน เครื่องจักรแบบไหนที่เหมาะสมกับข้าวชนิดนั้นๆ
หากว่าท่านติดตั้งเครื่องจักรที่แพงเกิน มากเกินไป ก็ไม่เหมาะสมกับการลงทุน แต่ถ้าลงไม่ครบก็ไม่สามารถที่จะทำงานได้
เมื่อมีเครื่องจักรที่ดี เหมาะสมแล้ว การออกแบบก็จะเป็นตัวชี้วัดว่าท่านทำได้มากเพียงใด เพราะว่าการสร้างร้านสีนั้นใช้เงินมาก ร้านสีที่สูงมากยิ่งใช้เงินมากเป็นเงาตามตัวการติดตั้งที่ซับซ้อนหรือแคบเกินไป เวลาที่ต้องซ่อมแซมก็ทำได้ลำบาก การเดินเครื่องปรับแต่งเครื่องก็ไม่สะดวก
มีหลายท่านคิดว่าถ้าเราติดตั้งเครื่องกะเทาะอยู่ด้านบน และกะเทาะมาลงตะแกรงเหลี่ยมแล้วลงมาตู้สีฝัดแล้วเสร็จก็ลงมาตะแกรงโยก โอ้โฮ!! วิเศษอะไรจะขนาดนั้น ไม่รู้คนอื่นทำไมคิดไม่ออก
ขอบอกได้เลยนะว่ามีคนคิดมาแล้วและก็รื้อออกมาแล้ว เพราะว่าไม่มีพนักงานคนไหนยกลูกยางกลมขึ้นไปถึงชั้นที่ 3 แล้วนั่งเปลี่ยนลูกยางในขณะที่ร้านสีกำลังโยกคลอนได้ แล้วก็มีฝุ่นข้าวแกลบที่ฟุ้งมาจากตะแกรงข้าวแกลบด้านล่างลงไปรบกวนเวลานั่งเปลี่ยนลูกยาง เวลาซ่อมเครื่องกะเทาะยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตอนดึกๆยางหมดก็ไม่มีคนไปเปลี่ยน ข้าวขาดก็ไม่มีคนมาดูเพราะขึ้นร้านสีขนาด 3 ชั้น
นี้เป็นตัวอย่างเล็กๆจึงเขียนมาเพื่อให้นึกถึงการออกแบบเป็นสำคัญ ออกแบบดี ประหยัดทุกอย่าง ตัวอย่างเรื่อง สายไฟฟ้าในร้านสี บางท่านชอบสวยงาม ติดตั้งห้องควบคุมไฟฟ้าแยกออกมาจากร้านสีมาอยู่อีกฝั่งหนึ่งของอาคาร
มอเตอร์ในร้านสีมีมากกว่า 100 ตัว แต่ละตัวมีสายไฟ 6 เส้น สายควบคุมอีก 4 เส้น สายรีโมทอีก 4 เส้น รวม 14 เส้น ถ้าห่างเพิ่มขึ้นอีก 50 เมตร มอเตอร์ 100 ตัว ต้องเพิ่มสายไฟทั้งเล็กและใหญ่รวม 50 คูณ 100 คูณ 14 รวม 70,000 เมตร
สวยมาก ดีมาก แต่ไม่ประหยัด ระยะยาวกินไฟอีกมากเท่าไหร่ ลองคิดดูครับ
————————–
ผมตั้งใจแบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ 60 กว่าปีในเรื่องเครื่องสีข้าว และเทคโนโลยีในการสีข้าว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจจะสร้างโรงสี เจ้าของโรงสีมือใหม่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์โรงสี หรือ โรงสีชุมชน
เราภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมข้าวไทยที่มีชื่อเสียงและคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน
ด้วยความปรารถนาดี
วิสูตร จิตสุทธิภากร
3 ส.ค. 2561