คลิกที่นี่เพื่อฟังเสียงคุณวิสูตรเล่าให้ฟังได้เลยครับ
—————————————-
ความสามารถของคนเรานั้นแตกต่างกันหลายด้าน ทั้งด้านความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ประสบการณ์ สิ่งต่างๆเหล่านี้เอง ทำให้การทำธุรกิจที่เหมือนกันแต่ความสำเร็จนั้นไม่เหมือนกัน
เมื่อความเชื่อและทัศนคติต่างกัน การปฏิบัติก็ไม่เหมือนกัน การทำงานการตัดสินใจต่างๆ เหล่านี้มาจากทัศนคติ หรือที่หลายท่านอาจเรียกว่า “วิสัยทัศน์”
คุณอาจจะได้ยินคำกล่าวว่า ธุรกิจโรงสีข้าวเป็นธุรกิจที่สร้างความมั่นคงร่ำรวยให้กับเจ้าของอย่างรวดเร็วและมากมาย แล้วเถ้าแก่โรงสีข้าวที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทุกท่านนี้มีปรัชญาในการดำเนินชีวิตและธุรกิจอย่างไร นั่นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก?
เมื่อคุณรู้ว่าเถ้าแก่โรงสีหลายท่านนี้มีความแตกต่างในการดำเนินธุรกิจ และเคล็ดลับในการทำงาน การบริหารเงินจากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุของตระกูล การอบรมทายาทของครอบครัวอย่างแยบยล ให้ซึมซับความคิดดีๆ เคล็ดลับการเงิน การวางแผนและการบันทึกข้อมูลต่างๆเหล่านี้ เป็นการสอนแบบพ่อสอนลูก ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ธุรกิจจึงขยายใหญ่โตขอบเขตกว้างไปหลายจังหวัด
เราจะได้ยินว่าโรงสีนี้เป็นลูกสาวโรงสีนั้น โรงสีโน้นเป็นดองกับโรงสีข้างบ้านเรา พี่ชายของโรงสี จังหวัดภาคอีสานมาสร้างโรงสีข้างบ้านเราเป็นต้น
มีอยู่ครอบครัวหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัวนี้มีลูกสาว 5 คน ท่านอาจจะไม่เชื่อว่า พี่น้องทั้ง 5 คนนี้ได้สามีเป็นคนมีอาชีพโรงสีข้าวทั้ง 5 สาว ไม่ใช่ว่าทุกคนแต่งงานกับเสี่ยโรงสี แต่ 3 ใน 5 แต่งงานกับหนุ่มที่มีอาชีพอื่นอยู่แล้ว ด้วยการชักนำและอุดหนุนกันในครอบครัว จึงทำให้อีก 3 ท่านได้เป็นเจ้าของโรงสีข้าว ถึงยุคปัจจุบันครอบครัวตระกูลนี้ มีโรงสีทั้งของลูกและหลาน กว่า 20 โรงสี กำลังผลิตมากกว่า 4000 เกวียน ใน 5 จังหวัด สร้างความเจริญรุ่งเรื่องในกับประเทศชาติมากมาย
ปรัชญาข้อ 1 คิดให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจทำธุรกิจโรงสีข้าว
ในการตัดสินใจที่จะทำการกิจการใดๆก็ตาม ต้องมีความรอบคอบ และรู้จริงในเรื่องนั้นๆ สมัยนี้เรียกว่าการทำ SWOT (จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค)
- ทำเล แหล่งวัตถุดิบ
- การเดินทาง / การขนส่งทั้งขาเข้า-ขาออก / คู่แข่ง
- เงินทุน / แหล่งทุน
- ความรู้ในเรื่องเครื่องจักร แรงงาน
- ความสามารถของผู้บริหาร วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร
เหล่านี้ต้องนำมาคิดวิเคราะห์หาคำตอบ ก่อนการลงทุน การทำธุรกิจการสีข้าว (โรงสีข้าว) นั้น อันดับแรกต้องรู้ว่าเราจะสีข้าวอะไร (คือพันธุ์อะไร) ข้าวหอมมะลิ ข้าวชัยนาท ข้าวสุพรรณ อื่นๆ หรือข้าวนึ่ง และจะสีออกมาขายให้กับลูกค้ากลุ่มไหน เช่น
- สีมาขายให้ผู้บริโภคภายใน (ข้าวถุง 5 – 15 – 25 – 50 กิโลกรัม)
- สีข้าวบรรจุถุงส่งให้ดีลเลอร์นำไปกระจายวางขาย หรือ บรรจุถุงแปะแบรนด์ให้ร้านค้าขนาดใหญ่นำไปวางขายในห้าง
- สีบรรจุกระสอบ / ถุงบิ๊กแบ็ค ส่งให้ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ส่งออกไปปรับปรุงแล้วส่งออกไปต่างประเทศ หรือจัดส่งออกด้วยตนเอง
คุณต้องตั้งโจทก์แล้วนำข้อมูลมาเพื่อการตัดสินใจในการสร้างโรงสีข้าวให้ตรงกับลูกค้าเป้าหมายของคุณ ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนแล้วลงมือขั้นต่อไปให้เป็นไปตามกลุ่มเป้าหมาย ศึกษาเรื่องพื้นฐานการทำนา และพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรชาวนาในพื้นที่จังหวัดนั้นและจังหวัดใกล้เคียงว่า ข้าวเปลือกพันธุ์ไหนที่มีมากและตรงกับธุรกิจที่คุณต้องการ
ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องการสร้างโรงสีข้าวนึ่ง (เพราะคุณมีตลาดในต่างประเทศ) คุณต้องหาทำเลที่มีการปลูกข้าวชัยนาท และพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตเป็นข้าวนึ่งได้ดีที่สุด
ในทางกลับกันถ้าคุณมีตลาดข้าวเหนียวคุณภาพดีเพื่อส่งออก คุณก็ต้องเลือกทำเลที่มีการเพาะปลูกข้าวเหนียวคุณภาพดี เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ภาคอีสานบางจังหวัด เป็นต้น
การเลือกทำเลที่ดี ใกล้กับวัตถุดิบให้มากที่สุดนั้น ก็ได้เปรียบกว่าคนอื่นไปมากแล้ว เพราะได้เปรียบทั้งเรื่องระบบขนส่ง การจัดซื้อ วัตถุป้อนโรงสีข้าว เป็นต้น
เช่นคุณจะทำข้าวหอมมะลิชั้นเลิศ แต่คุณคิดจะสร้างโรงสีในสถานที่ที่มีนาปรังและข้าวที่ปลูกเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ แน่นอนว่าคุณก็ต้องซื้อวัตถุดิบจากทางไกล ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
การเลือกชัยภูมิที่ดี จะทำให้เราได้เปรียบ การทำการค้าต้องมองยาวและใจเย็น รอบคอบอย่าใจร้อน
ในยุคที่ค่าใช้จ่ายในการจัดการและขนส่งที่เราเรียกว่าระบบโลจิสติกส์สูงขึ้นเรื่อยๆนั้น
การเลือกทำเลที่ดีทำให้เราได้เปรียบในเชิงต้นทุนอย่างมาก
ปรัชญาข้อ 2 โอกาสดีไม่ได้มีมาให้เลือกบ่อยครั้ง
คำโบราณว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะจะได้ไม่ต้องออกแรงมากในการตักมาใช้ในบ้าน เพราะน้ำในแม่น้ำนั้น ไม่ได้ขึ้นบ่อยครั้งนัก แต่ในสมัยนี้แค่เปิดก๊อกน้ำ ก็มีให้ใช้ถึงครัวเรือนแล้ว ไม่ต้องไปตักเหมือนสมัยก่อน
เมื่อเราได้ที่ดินหรือทำเลที่พอใจแล้ว ให้คำนึงว่ารถบรรทุกขนาดใหญ่ รถพ่วง และรถเกษตรกร จะสามารถเดินทางเข้ามาโรงสีเราได้สะดวกหรือเปล่า เพราะระบบขนส่งเป็นหัวใจของธุรกิจ โรงสีสมัยก่อนต้องติดแม่น้ำเพราะเดินทางทางเรือ ปัจจุบันต้องติดถนนหลัก แม้ว่าจะแยกเข้าไปบ้าง แต่ไม่ควรลึกเกินไป
เมื่อเราตั้งใจทำธุรกิจโรงสีข้าวแล้ว ข้อมูลต่างๆพร้อม ก็ต้องรีบฉวยโอกาสดีๆมาใส่ตัว
เมื่อเจอโอกาสดีๆ ก็ต้องรีบฉกฉวยเอาไว้
นี่คือจุดเริ่มต้นของการประสบความสำเร็จ
โอกาสดีๆ ก็เหมือนกับเวลาที่ไม่เคยคอยใคร และ มักจะไม่อยู่รอสิ่งใดนานๆ !!
มีคนในโลกนี้อีกมากมายที่เฝ้ารอคอยโอกาสดีๆ บางครั้งก็ปล่อยโอกาสดีๆให้หลุดลอยไปเสมอๆ ด้วยเหตุหลายประการ เช่น กลัวการเริ่มต้น คิดว่าตนเองไม่มีความสามารถพอ บางครั้งก็คิดว่าโอกาสอย่างนี้จะต้องผ่านเข้ามาอีกบ่อยๆ และ คิดว่าครั้งหน้ารอเราพร้อมกว่านี้ เหล่านี้ล้วนคือคำแก้ตัวทั้งนั้น
นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่เลือกที่จะรอคอยโอกาส หรือ เทวดาฟ้าประทานให้ แต่เขาจะสร้างโอกาสขึ้นมาเอง และทำโอกาสนั้นเป็นโอกาสทองที่จะทำให้ตนเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
เขารู้จักที่จะเปลี่ยนวิกฤติไว้เป็นโอกาสในช่วงเวลา บางครั้งเวลาที่จะมาถึงยังอีกไกล แต่เขาจะสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อรองรับโอกาสนั้น เมื่อเวลามาถึงเขาเองจะได้เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างคุ้มค่า (ในยุคปัจจุบันเราคงได้เห็นตัวอย่างหลายกรณี)
คนที่ปล่อยโอกาสดีๆหลุดลอยไปนั้นก็เหมือนกับคนที่ปล่อยความเจริญรุ่งเรืองให้กับคนอื่นไป
ส่วนคนที่เฝ้ารอคอยโอกาสดีๆ ก็เหมือนกับคนที่รอคอยฟ้าฝน
ถึงแม้ว่าฝนตกมาจริงๆก็ไม่มีความหมายเท่าไร เพราะคุณไม่ได้เตรียมภาชนะไว้รองนั้นเอง
ปรัชญาข้อ 3 คิดให้ช้า ทำให้เร็ว
การในทำธุรกิจโรงสีข้าวนั้น ต้องเป็นคนที่คิดช้า นั่นก็คือ คิดอย่างรอบคอบ นั่นเอง แต่เมื่อตัดสินใจแล้ว การลงมือทำต้องรวดเร็ว เพราะในยุคของข้อมูลข่าวสาร โทรศัพท์มือถือ ระบบคอมพิวเตอร์บนมือถือ ทำให้การซื้อขายรวดเร็ว ถ้าคุณมัวช้าคิดอยู่นั้นแหละคุณคงไม่ได้ขายข้าวสารแน่ๆเพราะว่าโทรศัพท์รอบที่สองที่จะมาต่อราคาก็อาจจะไม่วนมาอีกรอบ เพราะว่ามีคนตัดสินใจขายตัดหน้าไปแล้วนั้นเอง
ส่วนราคาต้นทุนนั้นจะคิดช้าไม่ได้ ต้องคิดไว้ในใจแล้วว่าราคาเท่าไหร่ขายได้ และสามารถต่อรองกับผู้ซื้อได้ทันทีที่ลูกค้าต่อราคามา ว่าจะขายได้หรือไม่ได้ เพราะในโลกของการซื้อขายข้าวสารที่มีหั่งเช้งขึ้นลงวันละหลายรอบ ถ้าคุณไม่มีต้นทุนในใจ มัวแต่คิดราคาอยู่นั่น คนอื่นก็อาจขายตัดหน้าไปหมดแล้ว
เคยมีเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ เช้าวันนี้ขายราคานี้ พอบ่ายราคาลงไปอีกหลายส่วน พอพรุ่งนี้ราคาลงไปอีก (ถ้าเมื่อวานไม่ขาย วันนี้คงไม่ได้ขายเพราะขาดทุนมากเกินไป) เช่นเดียวกันเมื่อมีเหตุการณ์ราคาขึ้น ถ้าเราไม่ตัดสินใจซื้อข้าวเปลือก วันนี้พรุ่งนี้ราคาก็เปลี่ยนไปแล้ว เราขายข้าวสาร วันนี้เคาะราคาซื้อไว้เท่านี้ แต่พอบ่ายราคาเปลี่ยน ข้าวเปลือกราคาขึ้น (เพราะคนขายข้าวสารไว้มาก จึงมาเร่งแข่งกันซื้อข้าวเปลือก) ทำให้ราคาข้าวเปลือกขึ้นไปสูงมาก ถ้าเราไม่มีข้าวเปลือกสำรองไว้ก็ขาดทุนอีกแล้ว
โรงสีข้าวขนาดใหญ่สีข้าววันละ 500 ถึง 1000 เกวียน ราคาข้าวเปลือกที่ซื้อเข้าเกวียนละกว่าหมื่นบาท การขายราคาผิดเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ขาดทุนได้ไม่น้อยทีเดียว
อาจมีหลายครั้งที่คุณพลาดโอกาสดีๆ ในการซื้อและขายเพราะว่าคิดช้าเกินไป
มีหลายครั้งเช่นกันที่คุณพลาดโอกาสสำคัญไป เพราะว่าคิดเร็วเกิน
ฉะนั้นคุณต้องฝึกคิดให้รอบคอบไว้ก่อนล่วงหน้าที่จะตัดสินใจ
เพราะการต่อรองทางโทรศัพท์อาจจะทำให้เสียสมาธิและตัดสินใจผิดพลาดได้
————————–
ผมตั้งใจแบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ 60 กว่าปีในเรื่องเครื่องสีข้าว และเทคโนโลยีในการสีข้าว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจจะสร้างโรงสี เจ้าของโรงสีมือใหม่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์โรงสี หรือ โรงสีชุมชน
เราภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมข้าวไทยที่มีชื่อเสียงและคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน
ด้วยความปรารถนาดี
วิสูตร จิตสุทธิภากร
29 ก.ค. 2561